[สัมภาษณ์พิเศษ] SketchUp โปรแกรมออกแบบ 3 มิติ


 

[สัมภาษณ์พิเศษ] SketchUp โปรแกรมออกแบบ 3 มิติ ที่ใครๆก็ใช้ได้

Admindd ADMIN DDSOFTTECH  ข้อมูลจาก : techtalkthai
    ต.ค. 25, 2023 Sketchup
 

 BIMBusiness SoftwareFeatured PostsIT BusinessIT KnowledgeIT Trends and Updates

 

สิ่งประดิษฐ์ อาคาร หรือวัตถุ บนโลกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆจากจินตนาการ เพราะก่อนที่จะออกมาเป็นชิ้นงานสุดอลังการสักแค่ไหนก็ตาม สถาปนิก วิศวกร หรือนักออกแบบ จะต้องมีการถ่ายทอดไอเดียเหล่านั้นออกมาเสียก่อน ในลักษณะของภาพแบบหรือโมเดลจำลอง ที่สามารถแสดงรายละเอียดปลีกย่อยตามความเป็นจริงให้จับต้องได้ เช่น รูปแบบตัดขวางในแกนต่างๆ รูปที่โฟกัสเฉพาะรายละเอียด หรือรูปโดยรวม ซึ่งภาพจำลองเหล่านี้เองคือสิ่งที่จะช่วยให้เจ้าของไอเดียโน้มน้าวลูกค้าหรือผู้ลงทุนให้เซ็นอนุมัติตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

เมื่อหลายสิบปีก่อนจึงเกิดซอฟต์แวร์ที่ใช้จำลองสิ่งก่อสร้างขึ้นที่เรียกว่า ‘Building Information Modeling : BIM’ โดย SketchUp คือหนึ่งในซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยม ซึ่งกุญแจสำคัญคือความง่ายในการใช้งาน ทำให้นักเรียน นักศึกษาสามารถนำไปใช้เองได้ ไม่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทีมงาน TechTalkThai และ FactoryTalkThai ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์คุณ Sean Baptist ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจาก SketchUp ทีมงานจึงขอใช้โอกาสอันดีนี้นำเรื่องราวที่น่าสนใจมาบอกต่อผ่านบทความนี้ครับ

 

 

คุณ Sean Baptist ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโสของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคของ SketchUP

 

ประวัติความเป็นมาของ SketchUp

SketchUp ถือกำเนิดขึ้นในปี 2000 ในบทบาทของเครื่องมือสร้างเนื้อหา 3D จากฝีมือของบริษัทสตาร์ทอัปสัญชาติอเมริกันที่ชื่อ @Last Software ซึ่งราวปี 2006 ซอฟต์แวร์ตัวนี้ได้ถูกส่งต่อสู่ Google ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทำให้ผู้คนรู้จักซอฟต์แวร์ตัวนี้มากขึ้น ก็คือการเปิดให้ใช้งานฟรีในปี 2007 ผ่านชื่อที่เรียกว่า ‘SketchUp 6’ ทำให้ผู้คนได้เข้ามาทดลองและเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมจนกระทั่งทุกวันนี้ 

หลายปีถัดมาจากกระแสนิยมของซอฟต์แวร์ BIM ณ เวลานั้นทำให้ Trimble บริษัทสัญชาติอเมริกันผู้ให้บริการเทคโนโลยีรายใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม เช่น รับเหมาก่อสร้าง การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ ขนส่ง ภูมิศาสตร์สารสนเทศ และอื่นๆ จึงได้เข้าซื้อ SketchUp จาก Google ในช่วงปี 2012 และทำตลาดเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ภาพคือใบเบิกทาง

คนส่วนใหญ่มักนำเสนองานผ่านสไลด์พรีเซ็นต์ จุดประสงค์ก็คือการอ้างอิงให้ผู้ฟังได้เห็นเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ของโครงการ แต่ในงานที่ชิ้นงานควรเป็นอะไรที่จับต้องได้ การมีโมเดล 3 มิติ ที่ทำให้ลูกค้าได้เห็นภาพจำลองย่อมดีกว่า ซึ่งเทคโนโลยี BIM ได้ถูกคิดค้นมาเพื่อการนั้น สิ่งเหล่านี้เองในทางปฏิบัติคือใบเบิกทางชั้นดี ให้การขายงานต่างๆเป็นไปได้อย่างลุล่วง โดยในหลายธุรกิจคำถามแรกที่ลูกค้ามักเริ่มต้นก็คือ “คุณมีอะไรให้ผมดูไหม” ก่อนที่จะคุยในประเด็นอื่นต่อไป นี่คือความสำคัญที่คุณ Sean อยากจะให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญว่าท่านทำดีกว่านี้ได้ง่ายๆ เพียงแค่เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะกับงาน

จากประสบการณ์ของคุณ Sean พบว่าในภาครัฐ ผู้นำเสนอจะต้องจำลองวัตถุได้อย่างแม่นยำมากกว่า เช่น ระยะ ความสูง ขนาด แต่ทุกอย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่ต่อยอดมาภายหลังจากมีโมเดลภาพขึ้นมาแล้ว ซึ่งการใช้ซอฟต์แวร์จำลองสามารถตอบโจทย์ได้ทุกแง่มุม ทั้งการขึ้นรูป กำหนดระยะ รวมถึงกรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ง่ายและเร็วกว่า โดยพันธกิจสำคัญของ SketchUp มุ่งหวังให้ทุกธุรกิจสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นแปลไอเดียสู่ภาพโมเดลเพียงแค่ ‘วาดก่อน วัดทีหลัง’

4 ความโดดเด่นของ SketchUp 

มาถึงตรงนี้เชื่อแน่ว่าหลายท่านคงอยากจะรู้กันแล้วว่าเหตุใด SketchUp จึงเป็นซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจเหนือกว่าคู่แข่งอื่นในท้องตลาด ซึ่งทีมงานก็ไม่ลืมที่จะส่งคำถามนี้ให้แก่ผู้สัมภาษณ์ โดยคำตอบมีอยู่ 4 ข้อ ดังนี้

1.) ง่ายขั้นสุด

ก่อนการสัมภาษณ์ทางเราพอหาข้อมูลรีวิวเกี่ยวกับ SketchUp จากผู้ใช้จริงมาบ้างแล้ว ซึ่งทั้งหมดกล่าวถึงความง่ายในการใช้งาน และนี่คือความโดดเด่นที่ทีมงาน SketchUp เองได้ชี้นำให้เราเห็นอย่างมั่นใจว่า ซอฟต์แวร์ของพวกเขาใช้ง่ายเพียงใด โดยเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นในโจทย์เดียวกัน SketchUp ทำได้ด้วยขั้นตอนน้อยกว่า งานจึงเดินหน้าได้รวดเร็วกว่า โดยคุณ Sean กล่าวว่า “หากคุณใช้โปรแกรม BIM ใดๆในท้องตลาดได้ คุณก็ใช้ SketchUp ได้เพราะพวกเราง่ายกว่า” ด้วยเหตุนี้คำโฆษณาที่ว่า นักเรียน นักศึกษา ก็ยังติดใจ SketchUp จึงไม่เกินจริงเลย

2.) ยืดหยุ่น จ่ายเท่าที่ใช้

ปัญหาของซอฟต์แวร์อื่นๆ คือไม่ตอบโจทย์ความยืดหยุ่น ซึ่งผู้ใช้งาน BIM อาจต้องการใช้โปรแกรมในสาขาอาชีพของตนเท่านั้น แต่กลับต้องซื้อซอฟต์แวร์ที่มีฟีเจอร์มากกว่าที่ต้องการ ด้วยเหตุนี้เอง SketchUp จึงได้ออกแบบโปรแกรมในลักษณะการเพิ่มความสามารถด้วยปลั๊กอิน จะได้ทำการลงทุนเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น

3.) มีโมเดลตั้งต้นมากมายพร้อมไปต่อ

SketchUp มี Community ของผู้ใช้งานอย่างกว้างขวางทั่วโลก ซึ่งรากฐานนี้ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่การที่ Google เปิดให้ใช้งานฟรี โดยผู้ใช้งานสามารถแบ่งปันโมเดลที่ตนสร้างขึ้นผ่านที่เรียกว่า ‘3D Warehouse’ ปัจจุบันมีต้นแบบเกิดขึ้นมากกว่าล้านตัวอย่าง ผู้ใช้งานหน้าใหม่ไม่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ศูนย์ในหลายๆงาน เพียงแค่ค้นหาจุดที่ใกล้เคียงและปรับแต่งเพิ่มเติมเท่านั้น

4.) เทคโนโลยีล้ำสมัย

 

SketchUp for iPad – Credit : SketchUp

 

บริษัทได้มีการนำ AI เข้ามาใช้ในหลายจุด เช่น การใช้ AI เพื่อปรับเส้นขอบของลายเส้นให้มีความเนียนตามากยิ่งขึ้น หรือการค้นหาต้นแบบใน 3D Warehouse ด้วยรูปวาด ที่จะทำให้ประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในมุมของการใช้งาน SketchUp ยังส่งเสริมการทำงานร่วมกับอุปกรณ์ยอดนิยมอย่าง SketchUp for iPad ที่รองรับการใช้ปากกาวาดเขียนได้ รวมถึงฟังก์ชัน AR ที่ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มรายละเอียดมุมมองรอบด้านลงไปได้ พร้อมแชร์ QR ส่งต่อให้ผู้อื่นรับชมผ่านอุปกรณ์สมาร์ตโฟนที่พวกเขามี นี่เป็นเพียงรายละเอียดส่วนหนึ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีของ SketchUp เท่านั้น

การประยุกต์ใช้งาน SketchUp ในกรณีต่างๆ

หลายคนคงทราบกันดีแล้วว่า SketchUp เป็นซอฟต์แวร์ที่มักถูกใช้ในงานด้านสถาปัตยกรรม อาคาร ออกแบบภายใน ขึ้นรูปวัสดุชิ้นงาน วางระบบของโรงงาน พื้นที่จัดแสดง และอื่นๆ แต่เชื่อหรือไม่ว่าแล้วยังมีอีกหลายกรณีที่ผู้คนนำ SketchUp ไปใช้งาน เช่น

 

Credit : SketchUp

 

 

  • ฉากจำลองเหตุการณ์ฆาตกรรม – หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าทึ่ง กระทั่งผู้สร้างเองก็นึกไม่ถึง อย่างในกรณีของเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้เผยว่าตนนำซอฟต์แวร์ SketchUp เข้ามาช่วยสืบสวนคดีต่างๆ ซึ่งการจำลองสามารถทำให้เขาเห็นภาพจากข้อมูลมากมายที่เกิดขึ้นรอบด้าน และสามารถแสดงภาพเหล่านี้ในชั้นศาลเพื่อประกอบการตัดสินใจในกระบวนการยุติธรรมได้ด้วย โดยการนำเสนอต้องกำหนดระยะอย่างแม่นยำให้สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ก็ไม่เกินความสามารถที่ซอฟต์แวร์มี

  • ฉากภาพยนต์ – ในการสร้างฉากภาพยนต์ที่เหนือกว่าจินตนาการ เป็นเรื่องยากมากที่ผู้ประพันธ์ ผู้กำกับ และทีมงานจัดฉากจะเข้าใจภาพเดียวกัน หากปราศจากการสื่อสารที่ดี เพราะในบางครั้งวัตถุอาจล้ำเกินกว่าสิ่งที่คนเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องปฏิกรณ์ จรวดขนาดใหญ่ และอื่นๆ ทั้งนี้มีการนำ SketchUp ไปใช้ออกแบบจำลอง 3 มิติ ให้ทีมงานภาพยนตร์เห็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะได้ของที่ตรงใจแล้ว ยังช่วยลดไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด และต้นทุนในการสร้างฉากอย่างมหาศาล

  • ออกแบบพื้นที่อีเว้นต์ – การตกแต่งออกแบบสถานที่อีเว้นต์ถือเป็นเรื่องใหญ่ของทีมงานผู้จัด ซึ่งการใช้ SketchUp ช่วยประเมินหน้างานล่วงหน้า จะช่วยให้พวกเขาพบข้อจำกัดหรือไอเดียใหม่ๆได้สอดคล้องกับพื้นที่จริง ไม่เพียงแค่เรื่องการเคลื่อนไหวที่ดีของผู้คน แต่ยังรวมถึงองค์ประกอบต่างๆ เช่น การประดับหลอดไฟให้ความสว่าง ก็สามารถทำได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น 

  • ออกแบบฉากเกมค้นหาทางออก – เกมยอดนิยมของกลุ่มเพื่อนที่ต้องเข้าไปติดอยู่ในฉากจริง และต้องช่วยกันไขปริศนาหลุดออกมาจากพื้นที่ให้ได้ โดยเกมจะจำลองให้ผู้คนใช้ไหวพริบหนีจากสถานการณ์ถูกขังออกมาภายนอก ซึ่งแน่นอนว่าการออกแบบเหล่านี้ขึ้นกับความคิดสร้างสรรค์ของผู้คิดค้นเกม โดยมีคนกลุ่มหนึ่งได้นำ SketchUp เข้ามาช่วยออกแบบฉากการให้บริการเกมของพวกเขา ที่ช่วยให้เห็นภาพและลดตุ้นทุนการทำงานได้อย่างมีนัยสำคัญ

แผนการของ SketchUp ใน APAC และโอกาสทางการตลาดในประเทศไทย

ไม่ว่าจะเป็นตลาดไทยหรือ APAC ความต้องการของผู้คนก็ยังอยู่ในจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือพวกเขาต้องการสิ่งที่จับต้องได้ และคุ้มค่าต่อการลงทุน และนี่คือสาเหตุที่ SketchUp ได้จัดงานอบรมสัมมนาอย่างสม่ำเสมอเพื่อเชิญชวนผู้สนใจมาร่วมอัปเดตฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้แก่พาร์ทเนอร์และกลุ่มผู้สนใจต่างๆในหลายประเทศ

แต่หากเจาะลึกลงไปในแผนประเทศไทยเอง คุณ Sean เชื่อว่าปีหน้าเป็นโอกาสครั้งใหญ่ที่ตนและทีมงานอยากชี้ให้องค์กร ได้เห็นว่าเครื่องมือของพวกเขาจะสร้างความแตกต่างและความคุ้มค่าได้อย่างไร (TCO) เนื่องจากหลายบริษัทอาจมีวิธีการออกแบบอยู่แล้ว แต่อาจยังไม่เหมาะสมกับเนื้องานมากนัก เช่น บางองค์กรยังใช้ Powerpoint เพื่อจำลองพื้นที่ ซึ่งไม่เหมาะสมกับงานทำให้งานล่าช้าและแก้ไขได้ยาก นอกจากนี้ประเทศไทยที่มีมูลค่าเศรษฐกิจอันดับ 6 ในเอเชียแปซิฟิค ยังมีพื้นที่อีกมากที่ SketchUp สามารถถูกนำมาช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ประเด็นที่คุณ Sean กังวลมากที่สุดคือการยอมรับการเปลี่ยนแปลงและเปิดใจทดลองสิ่งใหม่ต่างหาก ที่น่าจะเป็นความท้าทายของทีมงานผู้ขาย

3 เทรนด์สำคัญในตลาด BIM

เราได้ขอให้ทาง SketchUp เผยถึงเทรนด์ในตลาดของพวกเขา 3 เรื่องที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

  • Reality – การสร้างโมเดลจะมีความสมจริงยิ่งขึ้นไปอีกในเชิงลึก เพราะมีเทคโนโลยีที่ผลิตข้อมูลได้มากขึ้น เช่น อุปกรณ์ IoT เลเซอร์วัดระยะ หรืออื่นๆเป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถถูกนำมาใช้ประกอบในโมเดลให้การจำลองใกล้เคียงกับความจริงได้อย่างมาก

  • Metaverse – หากคำว่า Metaverse จะเกิดขึ้นได้จริง แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นคงหนีไม่พ้นมุมมอง 3 มิติที่ยอดเยี่ยม อันที่จริงโมเดลเหล่านี้ก็เกิดขึ้นแล้ว เช่น การซื้อของผ่านโลกเสมือนต่างๆ โดยทาง SketchUp เอง พวกเขาก็พร้อมรองรับกับเทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้แล้ว

  • Personalization – ผู้คนกำลังมองหาความเป็นไปได้จริงเฉพาะบุคคลมากขึ้น เช่น เมื่อเราต้องการซื้อตู้เสื้อผ้าเข้าห้อง ท่านย่อมอยากทราบว่าหน้าตาเมื่ออยู่ในห้องจะเป็นอย่างไร จะใช้ได้จริงไหม แต่สำหรับนักออกแบบ อาจมองลึกลงไปได้ว่าหากหันทิศนี้ ลักษณะการบดบังแสงเป็นอย่างไร ซึ่งมีผลต่อการจัดวางหน้าต่าง ประตู และอื่นๆ กล่าวคือผู้คนอยากจำลองวัตถุได้สอดคล้องกับโจทย์เฉพาะของพวกเขา

บทส่งท้าย

 

บรรยากาศงานใหญ่ประจำปีของ SketchUp เพื่อพบปะ อัปเดต กับพาร์ทเนอร์และคู่ค้า

 

ตลอดช่วงระยะเวลาการสัมภาษณ์สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับ SketchUp ที่ทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับในวงกว้าง ก็คือความง่ายต่อการใช้งาน นี่คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้ความนิยมในผลิตภัณฑ์ของพวกเขาสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งผู้ใช้เริ่มต้นตั้งแต่อายุน้อย Community ของพวกเขาก็ยิ่งแข็งแกร่งและกว้างไกลเกิดการแบ่งปันไอเดียใหม่ๆเพิ่มขึ้น

องค์กรเองควรสำรวจตัวเองว่าปัจจุบันท่านมีการใช้งานซอฟต์แวร์จำลองแล้วหรือยัง หรือใช้โปรแกรมที่เหมาะสมกับงานหรือไม่ การคืนทุนเป็นอย่างไร เพิ่มประสิทธิภาพหรือภาระกันแน่ หากท่านยังไม่มีในใจ SketchUp ก็มีแพ็กเกจฟรีให้ท่านลองใช้เบื้องต้นดูก่อนได้

สุดท้ายนี้หากถามว่า SketchUp สามารถถูกนำไปใช้งานได้ในงานประเภทไหนบ้าง คำตอบกลับแผ่ขยายออกไปเกินกว่าที่จินตนาการของผมเองจะนึกได้ เพราะผู้คนต่างหากคือผู้เลือกว่าจะนำพลังของซอฟต์แวร์ไปแก้ปัญหาที่พวกเขามีอย่างไร แม้กระทั่งเจ้าของซอฟต์แวร์เองก็คิดไม่ถึงเลยด้วยซ้ำ

>> หากท่านใดสนใจซอฟต์แวร์ SketchUp สามารถกรอกแบบฟอร์มด้านล่างได้เลยค่ะ 

Visitors: 99,495